การพัฒนาบุคลิกภาพ

ในการจัดอบรมเตรียมนักเรียนไปนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ ในการประชุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์นานาชาติ (International Conference for Young Scientists 2011 หรือ ICYS 2011) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 29 เมษายน 2554 ณ กรุงมอสโค ประเทศรัสเซีย

ผู้จัดการอบรม ซึ่งได้แก่สสวท. และสมาคมนักเรียนทุนโครงการพสวท. (สทวท.) ได้เชิญคุณสุดสวาท สุจริตกุล เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “การเสริมสร้างบุคลิกภาพ” เพื่อให้ตัวแทนนักเรียนจากประเทศไทยที่ไปร่วมงานประชุมนานาชาติในครั้งนี้ มีบุคลิกภาพที่ดี ในการนำเสนอผลงานวิชาการ วางตัวในสังคมได้อย่างเหมาะสม เป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศไทยต่อไป

ภายในเวลาการบรรยายที่จำกัดเพียง 90 นาที เราได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างที่มีผลต่อบุคลิกภาพของเราเอง (เพราะคนที่ดูเชยในสังคมส่วนมากมักเป็นนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และข้าราชการ) ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ปรากฎต่อผู้พบเห็น ซึ่งหากนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอแล้ว ย่อมเป็นผลดีต่อตัวเราแน่นอน และเป็นสิ่งที่นำไปใช้ได้ตลอดชีวิต

ความประทับใจเมื่อแรกเห็น

หากไม่สามารถทำให้ผู้พบเห็นเกิดความประทับใจเมื่อแรกเห็นได้แล้ว ย่อมไม่มีโอกาสเป็นหนที่สอง สิ่งที่ผู้อื่นเห็นเราเป็นครั้งแรกคือ หน้าตา ทรงผม เครื่องแต่งกาย บุคลิกภาพ อิริยาบท ภาษากาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ปรากฎออกมาให้เห็นเป็นองค์ประกอบของบุคลิกภาพ (1) มาดดี (2) แต่งกายดี (3) พูดจาดี (4) อารมณ์ดี (5) รู้กาละเทศะ

หรือกล่าวได้ว่าสิ่งสำคัญสำหรับบุคลิกภาพคือเรื่องของ กาย วาจา ใจ

เราสามารถสร้างความประทับใจเมื่อแรกเห็นเพียงแค่เดินเข้ามาแล้วอมยิ้ม

แต่การเดินเข้ามาแล้วฉีกยิ้ม แจกยิ้มไปทั่วอาจถูกมองว่าบ้านิดๆได้ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับกาละเทศะ ว่าเป็นการสร้างความประทับใจเมื่อแรกเห็นกับใคร ที่ไหน เวลาใด

การเดินและการยืน

มีสิ่งที่ไม่ควรทำเช่นการเดินหลังค่อม การเดินคอโก่ง ล้วงแคะแกะเกา เขย่าเท้าหรือขา ล้วงกระเป๋า โดยเฉพาะเมื่อคุยกับผู้ใหญ่ (แต่ในภาพประกอบดูเหมือนว่าวัฒนธรรมล้วงกระเป๋าจะเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริหาร) ทั้งนี้การเดินและยืนเป็นอวัจนภาษาที่สื่อสารให้คนเคารพได้ แม้ในชาวต่างชาติที่เรามักจะพูดกันว่าเป็นพวกที่ “easy come, easy go” ก็อาจจะรู้สึกทนไม่ได้กับอากัปกิริยามารยาทบางอย่าง

การเดินที่ถูกต้อง ใบหูต้องตรงกับช่วงไหล่ อย่าเดินหลังค่อม หายใจลึกๆ อาจารย์แนะนำว่าให้อัดวิดีโอตอนเดินมานั่งดูกันให้เห็นว่าตัวเองเดินยังไงกันไปเลย วิทยากรเคยสอนเรื่องบุคลิกภาพให้นางงามระดับประเทศมาแล้ว แต่ในบางประเทศเช่นเวเนซูเอลามีสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อสร้างนางงามโดยเฉพาะ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใดนางงามประเทศเวเนซูเอลาจึงได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลหลายต่อหลายครั้งมาแล้วนั่นเอง แต่ในการอบรมครั้งนี้เอาแค่เรามาดดีก็พอ ไม่ต้องถึงกับประกวดนางงาม

การยืนของผู้ชาย

สิ่งต้องห้ามคือการยืนถ่างขา ล้วงกระเป๋าหรือแอบเกาด้วย ยืนกอดอก สิ่งที่ควรทำคือการแยกขาไม่เกินช่วงไหล่ ขาไม่ชิดกัน ประสานมือกันไม่ต่ำกว่าสะดือ ไม่กำแขนแล้วกางนิ้วโป้งออกมา ไม่จับแขนตรงข้อศอกเพราะจะเหมือนบริกรตามร้านอาหาร ควรยืนหน้ากระจกเพื่อพิจารณาว่ายืนเอียง หรือไหล่เอียงเนื่องมาจากสะพานกระเป๋าหนักๆมาตลอดหรือไม่ การยืนแล้วมือไพล่หลังก็จะเหมือนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนตรวจการอยู่ หากยืนถือไมโครโฟนให้นิ้วโป้งอยู่ตรงสวิตช์เปิดปิด ไม่จับไมค์ยื่นออกมาเหมือนนักร้อง ไม่เคาะไมค์โป๊กๆ หากต้องการทดสอบการทำงานของไมโครโฟน หากต้องไหว้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทย ระวังจะยกมือไหว้ แล้วไมค์จะกระแทกหน้าผาก ให้เอียงไมค์ออกจากแนวตั้งโดยใช้หัวแม่มือ แต่ระวังไมค์จะหล่น วางไมค์ก่อนแล้วค่อยไหว้ก็ได้

การยืนระหว่างการนำเสนอหน้าห้อง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งเรา ผู้ฟัง และจอภาพ ให้ยืนเอียงให้ครึ่งหนึ่งอยู่ด้านผู้ฟัง อีกครึ่งหนึ่งอยู่กับหน้าจอ การวางเท้าไม่จำเป็นต้องมีเท้านำหรือตามในกรณีของผู้ชาย ถ้าเป็นมืออาชีพ ต้องไม่หันหลังให้กับผู้ฟัง พูดก่อนที่สไลด์นั้นจะปรากฎขึ้นมา เช่นเป็นการเกริ่นนำสไลด์นั้น แสดงถึงความพร้อมในการเตรียมนำเสนอให้ผู้ฟังประทับใจ

การยืนของผู้หญิง

การยืนของผู้หญิง ปลายเท้าจะทำมุมกันเหมือนเข็มนาฬิกา หากต้องทำมุมกับผู้ฟังด้านใดหน้าหนึ่ง ปลายเท้าก็ต้องปรับให้เหมาะสม ในกรณีที่ผู้ฟังอยู่ทางขวามือ ปลายเท้าซ้ายจะเป็นเหมือนเข็มยาวที่ชี้เลข 12 ปลายเท้าขวาจะเป็นเหมือนเข็มสั้นอยู่ที่เลข 2 (เท่ากับสองนาฬิกา หรือบ่ายสองโมง) ในทางตรงกันข้ามหากผู้ฟังอยู่ทางซ้าย ให้ปลายเท้าซ้ายเป็นเข็มสั้นที่ 10 นาฬิกา ปลายเท้าซ้ายเป็นเข็มยาวที่ 12 นาฬิกา และควรเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาด้วยความคล่องแคล่วเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องก้มดู หากยืนฟัง การประสานมือของผู้หญิงจะประสานกันที่มือได้ ซึ่งแตกต่างจากผู้ชาย หากทำเหมือนผู้ชายอาจดูว่าก้าวร้าว

การยืนที่ถูกต้อง นำไปสู่การย่างก้าวที่สง่างาม

การแต่งกาย

การแต่งกายให้ดูดีทำได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องแต่งกายราคาแพงระยับ หากแต่การแต่งกายให้เหมาะสมก็ทำให้ดูดี และไม่ “กระจอก” ได้เช่นกัน

การนำเสนอหน้าห้อง

(ดูการยืนเพื่อนำเสนอหน้าห้องประกอบ) หากใช้เลเซอร์พอยเตอร์ให้ชี้แล้วหยุด อย่าไล่ชี้เป็นบรรทัด หรือชี้แล้ววนแล้ววนอีก เพราะจะทำให้ผู้ฟังมึนไปกับการหมุน หรือทำให้รู้ว่ามือสั่นได้ มีการผายมือ หรือใช้มือเพื่อสื่อสารให้สอดคล้องกับคำพูด และต้องมีการสบสายตาผู้ฟัง (eye contact) อย่าอ่านจากกระดาษ อย่าอ่านจากหน้าจอ อย่าพูดเหมือนท่องออกมาเป็นนกแก้วนกขุนทอง อย่านั่ง เพราะจะทำให้ผู้ฟังไม่เห็นผู้พูด อย่าเดินไปเดินมาให้ผู้ฟังเวียนหัว แต่เดินได้อย่างพอประมาณ ซึ่งขึ้นกับสภาพของห้องด้วย อย่าเดินตัดหน้าจอภาพ หรือเครื่องฉายภาพ

การนั่งอย่างเป็นทางการ

หัวข้อ “การนั่งอย่างเป็นทางการ” หมายความว่าถ้านั่งที่บ้าน หรือกับเพื่อนๆ ก็ไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้

จากท่ายืนสู่ท่านั่ง — เรานังอย่างไร? บางคนก้มตัว บางคนมีเสียงประกอบเหมือนว่าปวดไปทั่วร่าง (แสดงถึงสังขาร) ผู้ชายบางคนเอามือไปอยู่หว่างขา แล้วดึงเก้าอี้เข้าหาตัว ซึ่งไม่เหมาะสม

วิธีนั่งอย่างเป็นทางการคือ ให้น่องแตะอยู่กับเก้าอี้ด้านหลัง สายตายังมองไปยังผู้ที่เชิญเรานั่งเป็นต้น (แม้แต่จะนั่งก็มี eye contact) ใช้กล้ามเนื้อก้นและต้นขาในการลดตัวลงนั่ง อย่างอตัว (อธิบายยาก ให้ลองนั่งโดยหลังห้ามงอ …ระวัง.. อย่าใช้เก้าอี้แบบมีล้อในการทดลองหากยังไม่ชิน) นั่งประมาณ 3/4 ของเก้าอี้ (หากนั่งไม่พอดี ให้ใช้กล้ามเนื้อต้นขายกตัวเพื่อนั่งให้พอดี) และอย่าพิง (ปล.อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ ว่านี่คือการนั่งอย่างเป็นทางการ) หากต้องนั่งคุยหรือฟังนานๆ อาจพิงพนักได้ในภายหลัง (เพราะคงเกร็งไม่ไหวแล้ว ให้จับขอบเก้าอี้แล้วกระดกตัวเข้าไป) พอนั่งลงได้ ถ้าเป็นผู้ชายอย่างถ่างขามากมายนัก ใช้หลักการเดียวกับการยืน คือประมาณแค่ช่วงไหล่ และประสานมือกันระหว่างนั่งเมื่อนั่งลง (ฝึกฝนให้เกิดความไหลลื่นและไม่เกร็ง..บางคนเกร็งมากจะค่อยๆนั่งแบบสโลโมชั่น อาจจะทำให้ผู้พบเห็นตกใจ) ปลายเท้าตรง อย่าแบะออก คนไทยมักไม่ไขว้ห้าง แต่ฝรั่งไม่ถือ (มีสองสไตล์คือแบบอเมริกันกับแบบยุโรป) แต่ก็ยังไม่สุภาพเมื่อคุยกับผู้ใหญ่

อย่าถอดรองเท้าเป็นอัดขาด ถือว่าเป็นสิ่งไม่สุภาพมากๆระดับสากล อย่านั่งเขย่าขา บางวัฒนธรรมการเห็นพื้นร้องเท้าด้านล่างก้ไม่ได้ ซึ่งหมายถึงรองเท้าและเท้าต้องติดพื้นอยู่ตลอดเวลา ห้ามนั่งเปิดส้น หรือนั่งกอดอก

ถ้าเมื่อยอาจเอียงซ้ายขวาแก้เมื่อ ไขว้ปลายเท้าได้ (แต่ไม่ต้องกระดิกเท้า) หากเก้าอี้มีล้อ อย่าได้เคลื่อนที่โดยไถเก้าอี้ขณะยังนั่งอยู่ไปที่ต่างๆเป็นอันขาด

หากลุกออกจากที่นั่ง ถ้าเก็บเก้าอี้ได้ ให้เก็บเก้าอี้ ถือเป็นมารยาทที่ดี

การจดบันทึกและมารยาทการฟังบรรยาย

อย่าก้มหน้าก้มตาจด เพราะผู้บรรยายอาจมองว่าก้มทำอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าสนใจสิ่งที่กำลังบรรยายหรือไม่ ให้จดบันทึก เมื่อหยุดจดให้วางปากกา แล้วเงยหน้าฟัง มองผู้บรรยาย แสดงว่าเราสนใจการบรรยายอยู่ (มี eye contact กับผู้บรรยาย) อย่าเท้าคางเวลาฟังบรรยาย (แสดงความเบื่อ) ไม่กดปากกาเล่นดังคลิ๊กๆๆๆ (สร้างความรำคาญ และทำให้ผู้อื่นเสียสมาธิ) อย่า “side talk” คือหันไปพูดกับคนข้าง ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นนิสัยที่รู้กันในหมู่ชาวต่างชาติของคนไทยเวลาไปประชุมใหญ่ๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งผิดมารยาทการฟัง

มารยาทการเข้าสังคม

สังคมแต่ละสังคม มีวัฒนธรรมและกติกา หรือกาละเทศะของสังคมนั้น ตัวอย่างเช่นการนั่งรถส่วนบุคคล (มีสี่ที่นั่ง) หากมีผู้ใหญ่ จะให้ผู้ใหญ่นั่งตรงไหน หลักการก็คือตำแหน่งที่ผู้ใหญ่สะดวกที่สุด ซึ่งก็คือที่นั่งด้านหลังประตูทางออกฝั่งฟุตบาท (คือเข้าออกสะดวกที่สุด) เราจะนั้งที่ไหนขึ้นอยู่กับว่าเราสนิทคุ้นเคยกับผู้ใหญ่ท่านนั้นหรือไม่ หรือเพศเดียวหรือต่างกัน (เพศต่างกันไม่ควรนั่งคู่กันเพื่อป้องกันข้อครหานินทา) หากเป็นรถตู้ ผู้ใหญ่ควรอยู่แถวหน้า (ตำแหน่งที่นั่งสบาย ขึ้นลงสะดวกที่สุด) แต่ถ้าพลาดแล้วคงต้องปล่อยเลยตามเลย จะบอกให้ทุกคนลงมาจัดที่นั่งใหม่คงไม่ได้

การนั่งในห้องประชุม แขกอาจเดินไกล เจ้าภาพอยู่ใกล้ประตูเพื่อให้ออกไปหยิบข้าวของสะดวก ให้คนที่สำคัญรองลงไปนั่งถัดจากประธานไปทางด้านขวา (ธรรมเนียมสากล)

ในห้องรับแขก มีโซฟา ให้แขกหรือผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้ตัวใหญ่ เรานั่งเก้าอี้ตัวเล็กทางด้านขวาของแขกผู้ใหญ่ หากมีคนที่ใหญ่กว่าเราเดินมาคุยกับแขก ให้เราลุกขึ้นสละเก้าอี้ด้านขวาให้ แล้วเราย้ายมานั่งทางซ้ายของแขกผู้ใหญ่แทน (อย่าช้า ถ้าอีกคนมานั่งทางซ้ายเลย ก็ต้องปล่อยไปให้เป็นเช่นนั้น)

มารยาทการทักทาย

การทักทายช่วยสร้างความประทับใจเมื่อแรกพบได้ ชาวต่างชาติมักทักทายกันหลากหลายวิธี ในขณะที่คนไทยเราใช้การไหว้ หรือโดยทั่วไปแล้วใช้เพียงการอมยิ้มให้กัน (อมยิ้มคือการยิ้มแบบไม่เห็นฟัน) ก็ใช้ได้แล้ว

การไหว้นั้น แม้ว่าจะเป็นวัฒนธรรมไทย แต่คนไทยก็ใช่ว่าจะทำได้ถูกต้องและสวยงาม การไหว้ที่ดีแขนต้องไม่กาง ประนมมือระดับอก ก้มหัวให้ปลายนิ้วแต่กับคิ้ว ปลายนิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ปลายจมูก การไหว้ไม่ใช่การยกมือขึ้นมาหาคิ้วกับปลายจมูก การก้มมากก้มน้อยแสดงระดับความเคารพที่แตกต่างกัน การไหว้ต่างกับการจับมือ (handshake) ที่ควรมองสบตากับผู้ที่จับมือด้วย แต่การไหว้ให้ตามองปลายเท้าตนเอง การสบตาระหว่างไหว้อาจถูกมองว่าไม่สุภาพในกรณีที่ไหว้ผู้ใหญ่กว่า การไหว้นั้นมือควรจะว่างจริงๆ หากมีของอาจต้องวาง อย่าเหน็บกับรักแร้แล้วไหว้ อย่าไหว้แต่ไกล อย่าไหว้แบบกราด ถ้ามีคนเยอะ ให้เล็งผู้อาวุโสสูงสุดในที่นั้นเป็นเป้าหมายหลัก

การจับมือของชาวต่างชาติ ผู้ที่มีอาวุโสจะเป็นผู้ที่ยื่นมือมาให้จับก่อน ผู้น้อยอย่ายื่นมือไปก่อน แต่ถ้ามีคนยื่นมือมาแล้วก็ต้องจับมือตอบซึ่งเป็นมารยาทที่ดี จับกันแน่นพอประมาณ แต่หากเป็นการจับมือทางธุรกิจจะบีบมือเล็กน้อย แสดงความมั่นใจกับคู่ธุรกิจ หากเข้าเขย่าแขนตอนจับก็ให้ตามน้ำไป มือของเราควรสะอาดไม่มีเหงือ มีอุณหภูมิปกติ การเอามืออีกข้างมาจับด้วยอีกมือระหว่างการจับมือแปลได้สองอย่างคือการแสดงความยินดี หรือแสดงความเสียงใจ (ขึ้นอยู่กับสถานการณ์) และควรถอดถุงมือก่อนจับมือ ถ้าคู่จับมือมามือเปล่า

การแนะนำตัว

หากเป็นการแนะนำตัวระหว่างบุคคลสองคน (ขึ้นอยู่กับบทบาท และกาละเทศะในสังคม) ตามปกติแล้วควรปฏิบัติตนเพื่อให้มีบุคลิกภาพที่ดีระหว่างแนะนำตัวกัน ในกรณีที่มีคนกลาง มักจะพาผู้ชายเพื่อไปพบฝ่ายหญิง (ในกรณีแนะนำคนที่รู้จักกับคนที่เป็นเพศตรงข้าม) คนกลางควรรู้จักทั้งสองคนอยู่แล้ว เริ่มต้นโดยการให้ผู้ที่อาวุโสหรือสำคัญกว่ารู้ตัวก่อนว่าจะเริ่มแนะนำตัวกันแล้ว (ด้วยวิธีที่เหมาะสม) ไม่ใช่อยู่ๆก็แนะนำตัวกันขึ้นมา หากอาวุโสเท่ากัน คนที่แต่งงานแล้วจะมีอาวุโสกว่า หรือให้เกียรติคนที่เราสนิทน้อยกว่าก่อน อย่ามาแนะนำตัวกันริมถนนหรือห้องน้ำ หรือในลิฟท์

การให้นามบัตร ให้หันชื่อตนบนบัตรไปหาผู้ที่จะให้ ถือนามบัตรด้วยสองมือ คนที่ได้นามบัตรมาให้อ่าน (หรือทำท่าอ่านก็ยังดี) เก็บใส่กระเป๋าเสื้อ อย่าใส่ในกระเป๋ากางเกง

ระยะห่าง ระหว่างการยืนแนะนำตัวหรือสนทนา แตกต่างกันตามความสัมพันธ์ เช่นระหว่างเพื่อน หรือระหว่างคนอื่นๆ ระยะที่เหมาะสมทั่วไปคือหนึ่งช่วงแขน หากชิดไปจะอึดอัด หากห่างไปก็จะดูว่ารังเกียจกัน (ขึ้นอยู่กับขนาดวงสนทนา)

มารยาทบนโต๊ะอาหาร

การรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมนานาชาติ แก้วเครื่องดื่มมีหลากหลายรูปแบบ เช่นมีก้านให้จับ ก็จะขึ้นอยู่กับว่าดื่มอะไร และสมควรจับตรงไหน (เวลาบรรยายไม่พอคงลงรายละเอียดลำบาก) แก้วเล็กๆจับก้านของแก้ว ปลายนิ้วอย่ากรีดกราย แก้วไวน์แดง ซึ่งใหญ่และหนักให้ประคองตัวแก้วได้

เวลานั่งเก้าอี้อย่าพิงพนัก (ดูเรื่องการนั่งข้างบน) ปูผ้าเช็ดปากที่หน้าตัก

การรับประทานอาหารชุดของฝรั่งมีช้อนส้อมและมีดเรียงราย ให้ใช้ชิ้นนอกสุดเข้ามา ขนมปังอยู่ด้านซ้ายมือเสมอ อย่าหยิบของเช้าบ้าน ถ้าคนอื่นหยิบไปแล้วอย่าไปหยิบของคนอื่น ให้ขอกับบริกรใหม่ เวลารับประทานให้เอามือบิขนมปัง เอามีดปาดเนยมาทาชิ้นขนมปังที่บิออกมาเพื่อรับประทาน อย่าเอาส้อมหรือช้อนไปยุ่งกับจานชามบ้าน

เวลาทานซุปให้ตักจากข้างบน ปาดซุปส่วนเกินออกจากช้องเพื่อไม่ให้หยด ถ้าร้อนให้ถือรอไว้ อย่ายกขึ้นมาเป่า ทานซุปจากด้านข้างของช้อน หากต้องคุยระหว่างนั้นให้ถือช้อนไว้อย่าวาง

เวลาทานอาหารอย่ากางแขน ตัดอาหารหลักเช่นสเตกคำต่อคำ หากพักระหว่างรับประทานให้เอามีดไว้ใต้ส้อม การรวบแปลว่าทานเสร็จ ให้ด้านคมของมีดหันหาส้อม วางมีดและส้อมที่รวบไว้ในตำแหน่งห้านาฬิกา ทานเสร็จอย่าผลักไสจาน ห้ามวางของระเกะระกะบนโต๊ะ ไม่ควรแคะฟันเมื่อยู่ที่โตีะอาหาร (ไปทำในห้องน้ำ)

เกี่ยวกับ อ.ดร.ณัฐพล อ่อนปาน

อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่องนี้ถูกเขียนใน การนำเสนอ, ประชุมวิชาการ, เกณฑ์ตัดสิน และติดป้ายกำกับ , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น